0

All New 650 Series E-Clutch มันส์ สุด มาก…!!

ในงาน EICMA ที่ผ่านมาสิ่งที่หลายคนให้ความสนใจไม่แพ้การเปิดตัวรถใหม่จากฮอนด้า คือ “นวัตกรรมล่าสุด” ที่ติดตั้งมาบนรถ 650 Series ใหม่ทั้งสองรุ่น ใช่ครับ…เรากำลังพูดถึงระบบ E-Clutch หรือคลัตช์ไฟฟ้า ที่ปฏิวัติการขี่รถผู้ชายมีคลัตช์เกียร์แมนนวลให้สามารถเข้าเกียร์ และขับขี่ได้โดยไม่ต้องบีบคลัตช์ตั้งแต่เริ่มออกตัวไปจนถึงตอนจอดรถ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ฟีลมา อารมณ์พาไป เราก็สามารถกลับมาใช้งานก้านคลัตช์ และควบคุมการตัด/ต่อกำลังด้วยตนเองได้ในทุกจังหวะที่ต้องการ

วันนี้ในงาน Honda E-Clutch – The World’s First Ride ที่ทางไทยฮอนด้าจัดขึ้นเพื่อทดสอบ All New 650 Series รุ่น E-Clutch ครั้งแรกของโลกในประเทศไทย เราจะได้ลองนวัตกรรมใหม่นี้กันทั้งในสนามและบนถนนจริง ระบบ E-Clutch ทำงานยังไง มันเจ๋งขนาดไหน แตกต่างจากควิกชิพเตอร์ และระบบคลัตช์แรงเหวี่ยงที่อยู่ในรถครอบครัวยังไง ไปหาคำตอบกัน…

อะไรคือ คลัตช์ไฟฟ้า Electronic Clutch (E-Clutch)

สำหรับ All New CBR650R ตัวธรรมดา ผมเคยรีวิวไปเรียบร้อยแล้ว (มันมีอะไรใหม่บ้างและสมรรถนะเป็นยังไงสามารถอ่านได้ ที่นี่) วันนี้เลยขอโฟกัสกันที่ระบบ E-Clutch และฟีลลิ่งการขับขี่ใช้งานทั้งในสนามและบนถนนจริงเป็นหลัก

ฮอนด้า E-Clutch คือเทคโนโลยีระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งควบคุมให้ระบบคลัตช์แมนนวลปกติสามารถทำงานได้โดยที่ผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องบีบคลัตช์ทั้งเวลาเพิ่มและลดเกียร์ แต่ความพิเศษของมันยังไม่หมด เพราะระบบตัวนี้ทำงานโดยสั่งให้ระบบคลัตช์จับ และจาก คือมีการตัด/ต่อ กำลังจริง ๆ โดยอัตโนมัติแบบเต็มขั้นตอน ทั้งเรายังไม่ต้องใช้งานก้านคลัตช์เพื่อออกตัว ตอนชะลอความเร็ว หรือตอนจอดรถ ที่สำคัญคือไม่ต้อง Rev Matching ไม่ต้องยกคันเร่งเวลาเปลี่ยนเกียร์ ซึ่งมันต่างจาก Quick shifter ที่ทำงานด้วยการสั่งให้กล่อง ECU ตัดไฟและน้ำมัน (พูดง่าย ๆ คือตัดรอบเครื่องยนต์) ให้กำลังหายไปในเสี้ยววิ เพื่อลดแรงกระทำต่อชุดเกียร์ และให้ก้ามปูเกียร์สามารถดันเฟืองเกียร์เข้าไปเพื่อเปลี่ยนเกียร์ได้

จากภาพจะเห็นว่าระบบ E-Clutch นั้น ไม่จำเป็นต้องบีบก้านคลัตช์ทั้งตอนออกตัวและหยุด ส่วนเวลาเปลี่ยนเกียร์ก็จะทำการควบคุมระบบคลัตช์จริง ๆ (with clutch control) :ขอบคุณภาพจาก Global Honda


ถ้าพูดแบบง่าย ๆ ให้เห็นภาพ คือมันควบคุมให้ระบบคลัตช์แมนนวลในรถบิ๊กไบค์ ขี่ได้โดยไม่จำเป็นต้องบีบคลัตช์เลย แค่เข้าเกียร์ก็บิดออกไปได้เหมือน ระบบคลัตช์แรงเหวี่ยงใน Super cub ฯลฯ แต่ก็ยังเพิ่ม “ทางเลือก” ให้ผู้ขี่ยังสามารถกลับมาใช้งานก้านคลัตช์และคุมการตัด/ต่อกำลังเองได้ด้วย

ข้างในหน้าตาเป็นแบบนี้


การทำงานของระบบ E-Clutch

พอกางไดอะแกรมออกมาดูก็ต้องเอ่ยปากชมวิศวกรจากฮอนด้าเลยว่า “จีเนียส” มาก เพราะถึงมองเผิน ๆ โครงสร้างของระบบ E-Clutch มันจะดูซับซ้อน แต่ถ้าลองสังเกตดูดี ๆ จะทราบว่ามันไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด แถมมีประสิทธิภาพ และแม่นยำมากเพราะเกิดจากการวัดผลของชุดเซ็นเซอร์ที่คอยส่งสัญญาณมาจากจุดสำคัญหลายส่วน ก่อนจะนำมาประมวลผล และสั่งงานให้ระบบควบคุมการทำงานของคลัตช์อีกที

ชุดเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ของรถจะส่งข้อมูลให้กล่อง ECU ประมวลผล และสื่อสารกับกล่อง MCU ของระบบ E-Clutch: ขอบคุณภาพจาก Global Honda


เริ่มต้นตั้งแต่ การวัดรอบเครื่องยนต์ด้วยเซ็นเซอร์เพลาข้อเหวี่ยง, วัดองศาการเปิดคันเร่งด้วย เซนเซอร์จับตำแหน่งลิ้นปีกผีเสื้อ (Throttle Position Sensor), วัดตำแหน่งเกียร์ Gear position Sensor ด้วยการจับองศาของกระปุกเกียร์ (Shift Drum) เพื่อบอกว่ารถอยู่ในเกียร์อะไร พร้อมคอนเฟิร์มการเพิ่มหรือลดเกียร์ด้วยสัญญาณจาก Angle sensor นอกจากนี้ยังมีการตรวจจับการใช้งานคันเกียร์ด้วยเซนเซอร์คันเกียร์ หรือ Load sensor ที่เป็นก้านยาวต่อจากคันเกียร์ขึ้นมา คล้ายกันกับที่ควิกชิพเตอร์ใช้ (บางคนเห็นแล้วเข้าใจผิดคิดว่ามันคือควิกชิพ แต่จริง ๆ ไม่ใช่) ถัดมาคือ เซ็นเซอร์ตรวจจับการใช้งานก้านคลัตช์, ตรวจจับความเร็วรอบของเพลารอง (Counter Shaft RPM), สุดท้ายคือสัญญาณความเร็วจากเรือนไมล์ และความเร็วล้อจาก Wheel Speed Sensor ทั้งหน้า-หลัง ก่อนข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งไปยังกล่อง ECU เพื่อประมวลผล และสื่อสารไปที่กล่อง MCU (Motor control Unit) ซึ่งสั่งให้เซอร์โวมอเตอร์ (Servo Motor) สองก้อน ที่เชื่อมตัวอยู่กับชุดเฟืองทั้ง 4 ตัว หมุนเดินหน้า-ถอยหลังเพื่อขยับให้ระบบคลัตช์จับ และจาก แต่มันแบ่งการทำงานยังไงระหว่างการควบคุมคลัตช์แบบ Automatic กับการใช้คลัตช์แบบแมนนวลจากการบีบก้านคลัตช์ด้วยตัวของผู้ขับขี่เอง?

ความว้าวมันอยู่ที่แกนขากดคลัตช์ (Clutch Lever shaft) ซึ่งโครงสร้างแบ่งเป็นสามส่วน ส่วนแรกคือฝั่งคลัตช์ (Clutch Side สีเหลือง) ที่เวลาทำงานจะหมุนไปดันแกนคลัตช์และแผ่นกดคลัตช์ให้ลอยตัวเพื่อให้คลัตช์จับ และปล่อยเพื่อให้คลัตช์จาก เหนือขึ้นมาในแกนส่วนเดียวกันคือ Motor Control side (สีแดง) สวมลงมาลักษณะคล้ายหัวเฟืองเชื่อมกับชุดเฟืองอีก 4 ตัว และตัวเซอร์โวมอเตอร์ (Servo Motor) ซึ่งเคลื่อนตัวตามคำสั่งของกล่อง MCU สุดท้ายคือเพลาส่วนบนที่เรียกว่าฝั่ง Manual Operation side (สีฟ้า) ที่เชื่อมต่อกับสายคลัตช์ปกติ

ทำให้ระบบคลัตช์ตอบสนองได้อย่างเป็นธรรมชาติ และรวดเร็ว ทั้งจากการสั่งงานด้วยมือแบบ Manual และการสั่งงานด้วยการงัดคันเกียร์จากระบบ E-Clutch : ขอบคุณภาพจาก Global Honda


โครงสร้างแบบนี้ทำให้แกนขากดคลัตช์หนึ่งอันสามารถเคลื่อนตัวได้สองลักษณะ ถ้าระบบ E-clutch ทำงาน กล่อง MCU ก็จะสั่งให้มอเตอร์เซอร์โวและชุดเฟืองไปหมุนหัวเฟือง Motor Control side แกนฝั่งคลัตช์ตัวล่างก็จะหมุนตามไปกดแกนคลัตช์และแผ่นกดคลัตช์ให้ระบบคลัตช์ทำงานตัด/ต่อ กำลังโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าเป็นการทำงานแบบแมนนวลพอเราบีบคลัตช์ หัวแกนตัวบนที่เชื่อมต่อกับสายคลัตช์ปกติ ก็จะหมุนแล้วบังคับให้แกนส่วนล่าง (Clutch Side สีเหลือง) ที่เชื่อมกับแกนคลัตช์และแผ่นกดคลัตช์หมุนตามการทำงานปกติ โดยเป็นอิสระจากหัวเฟือง Motor Control side (สีแดง) ตัวกลาง ซึ่งจะเป็นการสั่งให้ระบบคลัตช์ทำงานตามการควบคุมของเรา โดยที่หัวเฟืองตรงกลาง Motor Control side ไม่ได้หมุนไปด้วย

ซึ่งทั้งหมดนี้มีข้อดีคือ

  • ทำให้ตัวระบบมีชิ้นส่วนน้อย มีขนาดกะทัดรัด และสามารถนำไปติดตั้งกับระบบคลัตช์แมนนวลปกติในรถมอเตอร์ไซค์รุ่นไหนก็ได้
  • ควบคุมการทำงานของคลัตช์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ให้ผู้ขับขี่สามารถเพิ่ม/ลด เกียร์ได้อย่าง รวดเร็ว นุ่มนวล และแม่นยำ โดยไม่ต้องบีบคลัตช์หรือยกคันเร่ง
  • สามารถควบคุมการทำงานของระบบคลัตช์ให้เหมาะสมกับทุกช่วงของการขับขี่ (สตาร์ทเครื่องยนต์, เข้าเกียร์, ลดเกียร์, หยุดรถ)
  • ทำให้ผู้ขับขี่สามารถเลือกควบคุมคลัตช์ด้วยตนเองได้แม้ในขณะที่ระบบออโตเมติกทำงานอยู่ และสามารถเลือกเปิด-ปิด ระบบได้ ตามต้องการ

หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้คงสงสัยว่าโอเค มันแม่นยำจริง วัดข้อมูลกันละเอียดยิ๊บ แต่จะทำให้เข้าเกียร์นุ่ม และแม่นยำกว่าควิกชิพเตอร์ได้ยังไง นั่นเป็นเพราะในขณะที่ระบบ E-Clutch ทำงานโดยการสั่งให้คลัตช์ทั้งระบบตัด/ต่อ กำลังเหมือนกับที่ผู้ขับขี่บีบก้านคลัตช์เอง แต่ใช้เวลาแค่เพียงเสี้ยววินาทีให้เราสามารถเพิ่มหรือลดเกียร์ถัดไปได้ กล่อง ECU ยังทำการควบคุมไฟจุดระเบิด และการจ่ายน้ำมัน ให้มีความเหมาะสมตามค่าต่าง ๆ ที่ชุดเซนเซอร์ทั้งหมดวัดได้ เพื่อให้การเปลี่ยนไปใช้อัตราทดเกียร์ถัดไปรู้สึกนุ่มนวล และต่อเนื่องมากที่สุดนั่นเอง นอกจากนี้ในจังหวะเชนจ์เกียร์ลงคลัตช์ติดรถยังเป็นระบบ Assist / Slipper Clutch อยู่แล้ว ล้อหลังจึงไม่สับ ไม่ล็อค แถมยังมีระบบ Traction control เข้ามาช่วยอีกแรง หากเราเข้าเกียร์ 1 แล้วเผลอตวัดคันเร่ง ล้อหน้าก็จะไม่ยก หรือถ้าจงใจกระแทกคันเร่ง ล้อก็จะลอยขึ้นมาแค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อ้าว…แล้วถ้าเราเผลอไปบีบคลัตช์ละ ถ้าเผลอไปบีบก้านคลัตช์ด้วยความเคยชินก็ไม่ต้องกังวลไป ในรอบต่ำหรือรอบเดินเบาที่เราต้องทำคือแค่ปล่อยก้านคลัตช์ไม่ต้องไปแตะมันอีก พอ 5 วินาทีผ่านไปตัวอักษร A สีเขียวก็จะติดขึ้นมาบนเรือนไมล์ เป็นการบ่งบอกว่าระบบ E-Clutch กลับมาทำงานแล้ว ซึ่งถ้าหากใครลองเอานิ้วไปบีบก้านคลัตช์ในช่วงนี้ จะรู้สึกได้ทันทีเลยว่ามันจะมีลักษณะเหมือนยุบ ๆ ฟรี ๆ ไม่มีแรงต้าน ก็ไม่ต้องตกใจ ถ้าเราต้องการใช้งานคลัตช์ พอบีบเข้าไปเกือบครึ่งน้ำหนักคลัตช์จะกลับมาเอง แต่ถ้ากำลังขี่อยู่ ใครต้องการดีดคลัตช์ ต้องการบีบคลัตช์เข้าเกียร์เอง หากเครื่องยนต์อยู่ในรอบสูง ระบบ E-Clutch จะติดกลับขึ้นมาทำงานภายในเวลาเสี้ยววินาที ให้คุณสามารถต่อเกียร์ถัดไปได้โดยไม่ต้องใช้งานก้านคลัตช์อีก หรือถ้ามือใหม่คนไหนต้องการฝึกทักษะการควบคุมคลัตช์ด้วยตนเอง ก็สามารถเลือกปิดระบบ E-Clutch ได้

ฟีลลิ่งการขี่ในสนาม All New 650 Series E-Clutch

ก่อนลง Track ด้วย CBR650R E-Clutch และ CB650R E-Clutch อย่างแรกที่แปลกตาและแสดงให้เห็นบนเรือนไมล์สี TFT ใหม่ขนาดใหญ่ชัดเจน คือไฟบอกเกียร์ฝั่งซ้ายของจอ วางอยู่บนกรอบสี่เหลี่ยม อีกจุดหนึ่งคือสัญลักษณ์ไฟตัว A สีเขียวเล็ก ๆ บริเวณมุมขวาของจอ ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกว่าระบบ E-Clutch กำลังทำงาน ตัวรถสตาร์ทเครื่องได้เลยโดยไม่ต้องกำคลัตช์ ไฟบอกเกียร์โชว์ตำแหน่งเกียร์ว่าง N พื้นหลังสีเขียว พอเข้าเกียร์ 1 กรอบด้านหลังจะหายไปกลายเป็นสีใส ถึงจุดนี้เราสามารถบิดคันเร่งวิ่งออกไปได้ทันที แต่ถ้ายังไม่เดินคันเร่งแล้วลองเข้าเกียร์ 2 พื้นหลังสี่เหลี่ยมจะกลายเป็นสีส้ม พร้อมแสดงเครื่องหมายลูกศรลง หมายถึงเราใช้เกียร์ไม่สัมพันธ์กับรอบ และความเร็วที่ใช้อยู่ ถามว่าถ้าเปิดคันเร่งแล้วรถออกตัวไปได้ไหม บอกเลยว่าได้ เข้าอยู่เกียร์ 6 ก็ยังออกได้ แต่ก็ไม่ควรทำบ่อย ๆ จนชิน

ตบลงมาเกียร์ 1 วิ่งลงสู่สนาม เตะขึ้นเกียร์สองการส่งผ่านของเกียร์ และกำลังงานมันมีความนุ่มนวล และแม่นยำมาก พอรถมีความเร็ว พื้นหลังที่เป็นสีคอยบอกเตือนเรื่องรอบจะหายไปกลายเป็นสีใส ขึ้นเกียร์สาม ไม่ยกคันเร่ง ทุกอย่างยังส่งผ่านไปได้สมูทคล้ายกับระบบเกียร์ DTC คือฟีลลิ่งมันมีความแม่นยำ และไม่มีข้อจำกัดเหมือน Quick shifter ที่บางตัวในรอบต่ำกว่า 5,000 จะมีอาการเข้าแล้วกระตุก รอบไม่สูงพอเข้าเกียร์ถัดไปไม่ได้ หรือชิพดาวน์จะไม่ทำงานถ้ารอบเครื่องยนต์นั้นต่ำกว่า 2-3000 รอบ/นาที แต่ของ E-Clutch มันใช้ได้ทุกรอบเครื่อง ทั้งขึ้นและลง ยิ่งถ้าเอาไปเทียบกับระบบคลัตช์แรงเหวี่ยง บอกได้เลยว่า ความนุ่มนวล และความแม่นยำในการตอบรับกับอัตราเร่งรอบเครื่องยนต์มันต่างกันแบบบ้านคนละหลัง หนังคนละม้วน

สำหรับใครที่เป็นสายสนาม หรือใช้ควิกชิพเตอร์มาชิน ๆ การขับขี่มันก็คือรถที่มี Quick shifter ยี่ห้อแพง ๆ นี่แหละ จริง ๆ ตั้งแต่สมัยผมแข่งในสนามก็ไม่มีใครมานั่งกำคลัตช์เปลี่ยนเกียร์กันแล้ว แต่ฟีลลิ่งในการต่อแต่ละเกียร์มันเนียนต่างกัน แม้กระทั่งเวลาที่เรางัดเกียร์ไม่สุด เหลืออีกนิด ไม่ว่าจะจากการเตะเกียร์ไม่แรงพอหรืออะไรก็ตาม ถ้าเป็น Quick shifter แน่นอนว่ารถจะตื้อแล้วเข้าไม่ได้ แต่สำหรับ E-Clutch ที่มีชุดเซ็นเซอร์ต่าง ๆ มากมาย รวมถึง Angle Sensor ที่คอยคอนเฟิร์มว่าเกียร์นั้นเข้าแล้วหรือไม่ ระบบจะทำการเติมรอบแล้วปล่อยให้เกียร์มันเข้าสล็อตถัดไป แน่นอนมันอาจจะเสียโมเมนตัมของกำลังไปบ้าง แต่ก็ยังเข้าได้ ถ้าเกิดขึ้นบ่อย ๆ เราก็สามารถเข้าไปเซ็ตคันเกียร์ได้เหมือนควิกชิพ โดยแยกกันทั้ง Shift up และ Down คือเป็น Hard, Medium และ Soft ให้เหมาะสไตล์การเข้าเกียร์ของตนเอง

ฟีลลิ่งในการเชนจ์ลงก็ดีไม่แพ้กันเพราะระบบคลัตช์ของ  All New 650 Series เป็น Assist / Slipper clutch อยู่แล้ว การตอบรับต่อการเชนจ์เกียร์ต่ำลงหนัก ๆ จึงมีการดึงกำลังที่นุ่มนวล เอนจิ้นเบรกมาแบบเนียน ๆ ล้อไม่ล็อค แค่อาจจะไม่มีเสียงเบิ้ลรอบเครื่องไล่กำลังอัดให้ได้ยินเหมือนระบบ Auto Blipper ก็เท่านั้น แต่ภายในกล่อง ECU ก็น่าจะต้องสั่งเพิ่มรอบเครื่องเพื่อ Rev Matching ให้อยู่แล้ว ไม่งั้นมันคงเชนจ์ลงได้ไม่ลื่นขนาดนี้

สรุป ประสบการณ์ On Track กับ All New CBR650R E-Clutch และ All New CB650R E-Clutch ครั้งนี้มันเป็นอะไรที่สนุกเกินคาด อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือระบบ E-Clutch มันช่วยให้เราขี่ในสนามได้แบบ Stress free คือไม่เครียด เพราะระบบแทบจะคอยแก้ไขข้อผิดพลาดในการใช้ระบบคลัตช์ ระบบเกียร์ให้เราอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องกังวลเรื่องคลัตช์ ไม่ต้องกังวลว่าเราจะใช้เกียร์ผิด หรือรอบเครื่องยนต์ไม่แมทช์กับเกียร์ที่ใช้ ถ้ารอบตกก็สามารถลดเกียร์ได้ทันทีไม่ต้องกลัวเครื่องกระตุก ฯลฯ อย่างที่บอกมันเพิ่ม “ทางเลือก” และอำนวยความสะดวกให้เราไปโฟกัสกับเรื่องไลน์การขับขี่ เอาสมาธิไปโฟกัสกับจุดเบรก การเข้า Apex ต่าง ๆ และเอนจอยด์กับการขับขี่ให้มากขึ้น ตามที่ Honda วางตำแหน่งมาให้ All New 650 Series อยู่ใน Category ของ FUN BIKE

All New CB 650R On Road

เป็นที่รู้กันดีว่ารถจักรยานยนต์แบบ Up Right แฮนด์ตั้งหลังตรง ถึงตัวจะต้องต้านกระแสลมอยู่เนือง ๆ เวลาขี่ แต่ไม่ว่าจะใช้ในเมืองหรือขับขี่เดินทางมันก็ยังค่อนข้างสบายจากแฮนด์ที่สูงกว้าง หักเลี้ยว ซอกแซกใช้งานได้ถนัด คล่องตัว และท่านั่งที่รีแลกซ์ พอจับ CB 650R ที่เครื่องยนต์มีแรงบิดดีมาใส่ระบบ E-Clutch การใช้งานในเมืองมันยิ่งง่ายขึ้นไปอีก ขี่ไปเจอรถติด การจราจรหนาแน่น มุดเข้าช่องระหว่างรถยนต์จากแยกไปถึงอีกแยกได้อย่างสบาย

เวลาผ่านกระจกข้าง หรือช่องแคบ ๆ แฮนด์ตั้งก็สามารถหักหลบได้แบบไม่ต้องออกแรงเยอะ ไม่ต้องมาคอยมากังวลกับการใช้คลัตช์ตอนชะลอรถ ไม่ต้องกังวลว่ารถจะกระตุก รถจะดับ ใช้เกียร์สูงไปรอบเครื่องไม่สัมพันธ์กัน ต้องลดเกียร์ ถึงที่ทำงาน รีบ ๆ ลืม ๆ ก็จอดคาเกียร์ได้ สตาร์ทเครื่องกลับมาเรือนไมล์ก็แจ้งเตือนสีส้มตัวเบ้อเร่อว่าคาเกียร์ไว้นะ ถ้ามาเร็วต้องหยุดแบบฉุกเฉินก็กระแทกเบรกหน้า-หลัง ลดเกียร์ต่ำแบบรวบได้เลย รถหล่อขี่ไปไหนก็เท่ห์ มือใหม่ไม่ต้องกังวลว่ารถจะดับกลางแยก ดับกลางช่องจราจรให้เสียความมั่นใจ

สรุป

เช่นเดียวกับนวัตกรรมใหม่ต่าง ๆ E-Clutch ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อเพิ่มทางเลือกให้เราสามารถใช้งานรถจักรยานยนต์ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ด้วยการลดภาระความซับซ้อนในการใช้องค์ประกอบของรถอย่างหนึ่งลง นั่นคือการใช้คลัตช์ ทำให้เราสามารถโฟกัสกับการขับขี่ได้เพิ่มขึ้น กังวลน้อยลง แต่มันก็ยังไม่ได้ง่ายจนแบบใครมาจับรถแล้วก็ขี่ได้ เพราะคงไปได้แค่ทางตรง แต่พอมาถึงโค้ง เราก็ยังต้องใช้ทักษะในการควบคุมรถ การเลือกไลน์ การกำหนดจุดยก จุดเบรก เรื่องของสายตา และการกลับมาเปิดคันเร่งในโค้ง เหมือนเช่นเดิม

ตอนนี้มันอาจยังเป็นของใหม่ หลายคนอาจจะยังไม่ได้ลอง เหมือนตอนระบบเกียร์ DCT ออกมาแรก ๆ มีเสียงมากมายบอกว่ามันทำให้เสน่ห์ของการขี่รถมอเตอร์ไซค์หายไป แค่บิดไปอย่างเดียวมันจะไปสนุกอะไร จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ไม่รู้เสียงเหล่านั้นหายไปไหนหมดแล้ว และรถมอเตอร์ไซค์เกียร์ DCT ก็ขายออกเอาขายออกเอา ไปลองดูก่อนครับ ลองให้รู้ แล้วเราก็จะตัดสินใจได้ว่ามันเหมาะกับตัวเองรึเปล่า ในอนาคตหลังจากคุณขี่กลับจากทริปทางไกลมาเจอกับรถที่ติดยาวเป็นแพของถนนเส้นพระราม 2 วันนั้นคุณอาจจะอยากวางเสน่ห์ไว้ก่อน แล้วนึกถึงความสบายของระบบ E-Clutch ขึ้นมาก็ได้

Honda ได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของรถจักรยานยนต์ไปอีกขั้น เพื่อทำให้การใช้รถจักรยานยนต์นั้นง่ายมากยิ่งขึ้น ปลอดภัยต่อผู้ใช้มากยิ่งขึ้น ไปลองไปสัมผัสระบบ E-Clutch อัจฉริยะกันได้แล้ววันนี้ที่ตัวแทนจำหน่าย รถจักรยานยนต์ Honda ทุกสาขาทั่วประเทศไทยกันครับ

Related