TEST RIDE: All New Yamaha Exciter 155 VVA
เมื่อพูดถึงรถเล็กในบ้านเรา Exciter คงเป็นอีกชื่อหนึ่งที่ผู้ใช้หลายท่านน่าจะคุ้นหูกันเป็นอย่างดี เพราะ Yamaha ได้ทำการบุกเบิกพัฒนาและต่อยอดรถจักรยานยนต์ในตระกูลนี้มาโดยตลอดนับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2005 (ตอนนั้นเป็น Exciter 150 เปิดหลัง Spark เลิกผลิตถ้าจำไม่ผิด) นั่นคือเมื่อ 15-16 ปีที่แล้ว มาวันนี้ Yamaha Exciter หวนกลับมาบุกตลาดอีกครั้ง ในรูปแบบของรถใหม่แบบ All-new ภายใต้รหัส Yamaha Exciter 155 VVA ซึ่งทางไทยยามาฮ่ามอเตอร์กล่าวว่าเป็นการ ‘ตอกย้ำความเป็นผู้นำรถจักรยานยนต์สปอร์ต New Segment ในเมืองไทย’ พร้อมการันตีคุณภาพสินค้า กล้ารับประกันทั้งคันเป็นเวลา 5 ปี หรือ 50,000 กม. โดยเปิดราคามาที่ 68,000 บาท อุบ๊ะ!
เอาจริง ๆ ผมเองไม่ค่อยได้จับรถเล็กบ่อยเท่าไหร่นัก นอกจากใช้งานในชีวิตประจำวันบ้างเป็นครั้งคราว เพราะเริ่มฝึกขี่ เริ่มต้นแข่งกับรถโมโตครอสเลย ไม่ใช่ Underbone ก่อนจะหันมาแข่งทางเรียบกับรถ 750 ซีซี และ1000 ซีซี ตามลำดับ วันนี้มีโอกาสได้นำ Yamaha Exciter ใหม่มาลอง ก็ต้องบอกตามตรงว่ารถ ‘New Segment’ ของยามาฮ่ารุ่นนี้มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะถูกปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดตั้งแต่หัวจรดท้าย ไม่ว่าจะเป็นหน้าตารูปทรง เครื่องเครา และที่สำคัญคือเทคโนโลยีหลายตัวนั้นถูกส่งตรงมาจากรถบิ๊กไบค์ของทางค่ายแบบไม่มีกั๊ก เอาเป็นว่าวันนี้เราจะมาดูรายละเอียดของ Exciter ใหม่กันแบบ ‘เจาะลึก’ ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ใส่เข้ามานั้นมีอะไรใหม่ มีอะไรดี แล้วมันดีด้วยเหตุผลอะไร ตามมุมมองของคนที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีและเทคนิคเทคโนของรถใหญ่อย่างผมก็แล้วกันครับ
จุดเด่นๆ ของการพัฒนาที่น่าสนใจ
นอกจากรูปลักษณ์และรายละเอียดภายนอกที่เสริมความเป็นสปอร์ตให้ดูโฉบเฉี่ยว มีแอโรไดนามิค ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากรถสปอร์ตตระกูล R ซีรีย์ของทางค่าย โดยมีจุดเด่นด้านนอกอย่างไฟหน้า / ไฟท้าย LED เรือนไมล์ Full LCD แล้ว… รายละเอียดภายในขุมพลังคืออย่างหนึ่งที่ทำให้ผมมองว่าทางยามาฮ่าตั้งใจทำให้มันเป็นรถเล็กที่ขับขี่ได้ เอ็กซ์-ไซด์ สมชื่อ ด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ให้มาไม่ว่าจะเป็น…
- ระบบคลัตช์แบบ A&S (Assist & Slipper) ระบบเดียวกันกับ Yamaha YZF-R1 ทำให้เกิดการเกาะจับของแผ่นคลัตช์มากยิ่งขึ้นโดยไม่เสียกำลังงานและทำให้ลื่นเพื่อหน่วงกำลังงานในช่วงเวลาที่เหมาะสม
- เทคโนโลยีพิเศษ พัฒนาการจุดระเบิดและกราฟการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 4 แบบ ซึ่งจะทำงานตามความเร็วของรอบเครื่องยนต์ (RPM) และการเคลื่อนตัวของลิ้นปีกผีเสื้อ ซึ่งหนึ่งในโปรแกรมนั้นมาจากรุ่นที่ผ่านมา
- เคลือบสาร (Diamond Carbone-Coated) ที่กระบอกสูบ เพิ่มความแข็งแรง,เพิ่มความลื่นและน้ำหนักเบา ซึ่งความลื่นในกระบอกสูบจะเพิ่มพลังทำให้การเคลื่อนตัวของลูกสูบเดินทางอย่างรวดเร็วให้อัตราเร่งเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง
- การวางตำแหน่งองศาหัวฉีด, องศาเรือนลิ้นเร่ง และรูจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในหัวฉีด ได้แรงบันดาลใจมาจาก Yamaha YZF-R1
- เครื่องยนต์แบบ Square 155 ซีซี พลังสูงใหม่บล็อกเดียวกับ R15 ที่ให้กำลังงานเพิ่มขึ้นอีก 17% จากรุ่นที่ผ่านมา ระบายความร้อนด้วยน้ำ, SOHC, 4 วาล์ว/สูบ, จ่ายน้ำมันเชื่อเพลิงด้วยหัวฉีด กระบอกสูบ X ช่วงชัก 58.0 x 58.7 (สแควร์) กำลังอัดสูงสุด 10.5:1 ให้แรงม้าสูงสุด 17.7 hp ที่ 9,500 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุด 14.4 นิวตันเมตร ที่ 8,000 รอบ/นาที
- ยามาฮ่าใช้ระบบ Variable valve Actuation (VVA) ซึ่งเป็นระบบเซอร์โวอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมวาล์วมาเสริมสมรรถนะให้แก่เครื่องยนต์ ซึ่งเราจะพูดถึงกลไกและการทำงานของมันในอีกซักครู่
**หนึ่งวันกับสปอร์ต New Segment ที่ให้สเปกมาแบบไม่มีกั๊ก**
เครื่องยนต์สตาร์ทติดง่ายมาก ลักษณะของเครื่องดูกว้างออกมาเล็กน้อยเพราะจากมี 5 เกียร์ เพิ่มเป็น 6 เกียร์ นั่นหมายความว่านอกจากแครงค์เครื่องยนต์จะกว้างตามความหนาของเฟืองเกียร์และความยาวของเพลาเกียร์แล้ว ชุดคลัตช์ใหม่ก็ยังต้องกว้างตามไปด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกแต่กลับเป็นผลดีเพราะทำให้น้ำหนักตกจุดศูนย์ถ่วงดีมากยิ่งขึ้น ตัวเครื่องถูกห่อหุ้มไว้ด้วยเฟรมใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อวางขุมพลังบล็อกนี้โดยเฉพาะ จุดสำคัญที่สุดของเฟรมอยู่ตรงการเชื่อมต่อองศาคอ (Rake) โดยใช้เพลทปั๊มขึ้นรูปลักษณ์เป็นตัว Y น้ำหนักเบาเสริมเข้ามา เพื่อเพิ่มความแข็งแรงซึ่งเรียกจุดนี้ว่า Y-shaped reinforcement collar อีกจุดหนึ่งที่ส่งผลให้เครื่องยนต์ทำงานในความเร็วสูงด้วยความเสถียร บาลานซ์ดี และมั่นคงในทุกๆ การเข้าโค้ง คือเพลทที่ยึดฝาสูบใช้เป็นอลูมิเนียมหนา 4.5 มม. และตัวเฟรมมีความโค้งรับกันบริเวณเหนือฝาสูบ ซึ่งเรียกว่า Boomerang ขณะที่ซับเฟรมหลังขยายให้กว้างขึ้นเพื่อยัดกรองอากาศใบใหญ่ และถังน้ำมันใหญ่ที่จุเพิ่มขึ้นเป็น 5.4 ลิตร ทำงานคู่กับเครื่องยนต์ใหม่ทำให้วิ่งได้ระยะทางมากขึ้นอีก 30 % พร้อมหรี่ท้ายเฟรมให้เรียวรับกับเบาะและชุดพลาสติกที่เป็นสปอร์ตเต็มรูปแบบชัดเจน
ท่าขี่สบาย ๆ เป็นรถเล็กที่อัตราเร่งและกำลังดีตั้งแต่รอบต้น บิดสนุก
คลัตช์บีบนิ่มมาก สาเหตุที่ยามาฮ่าขยับก้านคลัตช์ชิดเข้ามาอีก 10 มม. เป็นเพราะการนำระบบ Assist & Slipper Clutch มาใช้ในเครื่องยนต์บล็อกนี้ซึ่งช่วยให้คลัตช์บีบง่ายขึ้นจึงไม่ต้องให้ระยะมาก (แต่สำหรับผมรู้สึกระยะแคบไปนิด) ส่วนก้านเบรกอยู่ในระยะกำลังโอเค ตำแหน่งท่านั่งก็ทำมาได้กระชับมากด้วยเช่นกัน เบาะเล็กกะทัดรัดแนบสนิท คร่อมแล้วร่างกายผ่อนคลายไม่ต้องเกร็งลำตัว แขนไม่งอนัก หัวไหล่ไม่ยกสูง ไม่ทำให้คอตั้งจนเกินไป ด้านหน้ากดต่ำให้มองสัญญาณไฟต่าง ๆ ชัดเจน ตอนหนีบรถช่วงขาจะแนบติดคอนโซลพอดิบพอดี พักเท้าอยู่ตรงกับสะโพกเมื่อเอาขาลงตรง ๆ สามารถเหยียบพื้นได้เต็มเท้าแต่จะติดน่องนิดหน่อย
ซึ่งตามตำแหน่งการออกแบบถ้านั่งดันตัวไปสุดสเตปเบาะพอเอาขาลงหน้าแข้งจะอยู่ด้านหลังพักเท้าพอดี สำหรับคนตัวสูงอาจต้องงอหลังหรือก้มเล็กน้อยเพราะระดับแฮนด์เตี้ยตามสไตล์รถสปอร์ต ตัวแฮนด์แคบกว่ารุ่นที่ผ่านมาแต่สัมพันธ์กับเฟรมใหม่ที่ให้องศาคอมากว้างกว่าเดิมเล็กน้อย เวลาขี่จะรู้สึกว่ารถนั้นเสถียรในการเข้าออกโค้งซ้าย-ขวา ทรงตัวดีและมั่นคงในความเร็วสูง แฮนด์จึงสามารถสั้นลงได้กว่าเดิมซึ่งทำให้จับถนัดดีมาก ความกว้างของแฮนด์ยังพอดีกับหัวไหล่ซึ่งไม่กินแรงบังคับและไม่ทำให้ต้านลมมากเมื่อต้องการหมอบ แถมยังดูเข้ากับสเกลของรถอีกด้วย เพลาสวิงอาร์มยังคงเป็นแบบร้อยผ่านเฟรมตัวกลางยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องยนต์ แต่ก็อยู่ในจุดเชื่อมต่อที่สวยลงตัว
เรือนไมล์สวย แสดงรอบเดินเบาอยู่ที่ 1,200-1,300 รอบ/นาที เกียร์ 1 เข้าง่ายมาก ออกตัวด้วยการใช้รอบเครื่องยนต์เพียง 1,500 รอบ/นาที ก็เคลื่อนตัวได้สบาย ตัวรถรู้สึกเบาและคล่องตัว ส่วนหนึ่งมาจากระยะฐานล้อที่สั้นขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ถ้ามองจากด้านนอกอาจคิดว่ารถยาวขึ้นเพราะท้ายเพรียวยาว แต่จริง ๆ แล้วฐานล้อสั้นลงซึ่งมันลงตัวมาก เมื่อเริ่มเร่งเครื่องยนต์และไล่เกียร์ อย่างหนึ่งที่สัมผัสได้คือเกียร์สูงนั้นเข้าง่ายมาก ไม่ว่าจะเปลี่ยนในรอบปกติหรือลากรอบเครื่องให้สูงหน่อยเพื่อจับฟีลของอัตราทดในแต่ละเกียร์ก็ไม่ต้องบีบคลัตช์เลย แต่จังหวะเชนจ์เกียร์ต่ำพบว่าถ้ารอบเครื่องยนต์อยู่ประมาณ 3,000 -4,000 รอบ/นาที เกียร์ต่ำจะค่อนข้างลดยากยังคงต้องใช้การเบิ้ลเครื่องยนต์หรือบีบคลัตช์ช่วย เกียร์ค่อนข้างชิดโดยเฉพาะเกียร์ 1-3 เป็นเพราะเครื่องยนต์บล็อกนี้ยัดเกียร์มาถึง 6 สปีด อัตราทดเกียร์จึงย่อมสั้นกว่า เครื่อง 5 เกียร์ โดยเฉพาะเกียร์ต้นๆ
ช่วง 7,400 รอบ กำลังมาติดมือชัดเจนในปลายเกียร์
ด้วยความที่เครื่องบล็อกนี้เป็นเครื่องยนต์สปอร์ตเต็มพิกัดอยู่แล้ว อัตราเร่งต้น-กลาง เลยมาเร็ว ตัว VVA ที่อยู่ภายในเครื่องยนต์เป็นระบบเซอร์โวอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมวาล์ว โดยกำหนดให้แคมชาร์ฟไอดีสามารถเคลื่อนตัวไปเปิดวาล์วไอดีในรอบสูงที่ 7,400 รอบ/นาที โดยมีแขนล็อคแคม 2 ชุด ชุดแรกสำหรับรอบต่ำ-กลางทำงานที่ 1500-6,000 รอบ/นาที ชุด 2 สำหรับรอบปลายที่ 7,400 รอบ/นาที โดยชุดที่ 2 จะทำหน้าที่เปิดการทำงานของวาล์วไทม์มิ่งนานตามการเคลื่อนตัวของลิ้นปีกผีเสื้อหรือการบิดคันเร่งที่ข้อมือ เมื่อรอบเครื่องขึ้นถึง 7,400 รอบ/นาที ในปลายเกียร์ของแต่ละเกียร์ เซอร์โวก็จะเลื่อนแกนล็อคโลปแคมชาร์ฟตัวที่ 2 เข้ามาแทนที่ โดยจะเปิดวาล์วไอดีให้นานขึ้น ส่งให้น้ำมันเชื้อเพลิงเข้าห้องเผาไหม้ตามรอบเครื่องยนต์ในความเร็วระดับสูงซึ่งมันสามารถทะลุไปได้เกิน 120 กม/ชม.++ สบาย ๆ
รอคนไม่มีใจก็เหมือนรอรถไฟที่ป้ายรถเมล์ เดี๋ยวเกี่ยวอะไร??
นอกจากระบบ VVA แล้ว อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ Exciter มีกำลังและอัตราเร่งดีมากคือ ระบบจุดระเบิดและกราฟการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 4 แบบ ซึ่งหากดูตาม Diagram จะทราบว่า การจุดระเบิดแตกต่างกัน รวมถึงกราฟน้ำมันก็ยังมีความแตกต่างกัน ไล่จากน้อยไปหามากและจากมากควบคุมให้เหมาะสม แมพ จุดระเบิดและจ่ายน้ำมันชุดที่ 1 และชุดที่ 2 จะควบคุมระดับเกียร์ 1-3 ส่วนแมพจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงชุดที่ 3-4 จะควบคุมระดับเกียร์ 4-6 ซึ่งทำให้รถนั้นไม่รอรอบ ไม่กินน้ำมัน มีพลังต่อเนื่อง และกำลังไม่ตก
ทางแคบก็ไปได้สบาย ๆ รถเบาคล่องตัวอยู่แล้ว
ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่การเคลื่อนตัวของลิ้นปีกผีเสื้อขนาด 28 มม. ที่วางองศาความเอียงหัวฉีดมา 15°-18° เพื่อการฉีดน้ำมันให้ตรง เร็ว ลื่นไหลเข้าห้องเผาไหม้ โดยผ่านวาล์วไอดีสู่การจุดระเบิดให้เร็วที่สุดเดินทางสั้นที่สุด การใช้ลูกสูบหัวแบนและกำหนดให้วาล์วไอดีเปิดนานขึ้น (ไม่ใช่เปิดกว้าง) ประกอบกับการใช้หัวเทียนยาวที่วางลึกลงไปให้ใกล้วาล์วไอดีมากที่สุด ทำให้การจุดระเบิดสมบูรณ์,ระเบิดแรง,สร้างแรงอัดที่เหมาะสม,เครื่องไม่เขก (เพราะใช้กำลังอัดแค่ 10.5:1 รวมถึงห้องเผาไหม้นั้นทั้งแคบและเตี้ย) ความร้อนกำลังดี และคายกำลังอัดโดยไม่ทำให้เครื่องยนต์สูญเสียกำลังงาน แรงบิดที่เกิดขึ้นจากอัตราเร่ง,อัตราทดเกียร์ จึงมาเร็ว เกียร์ไม่ตันถึงแม้จะมีอัตราทดเกียร์ค่อนข้างชิดในเกียร์ต้นๆ ก็ตาม ในส่วนของสมรรถนะเครื่องยนต์ และเทคโนโลยีภายในที่ใส่มา เมื่อเทียบกับรถขนาดใกล้เคียงกัน สำหรับผม Yamaha Exciter 155 VVA จึงผ่านเสียยิ่งกว่าผ่าน รอบต่ำ ๆ กระทุ้งคันเร่ง เรี่ยวแรงก็มาทันท่วงที รอบกลางกำลังไม่ตก ยิ่งในรอบสูงเกิน 7,400 รอบ รถก็ยิ่งมีกำลัง ความเร็วไหลได้ดี จังหวะอยากแซงก็แซงได้ตามต้องการ เขาทำมาดีก็ต้องบอกว่าดีครับ อันนี้ยอมรับเลย
นอกจากรายละเอียดในส่วนของเฟรมแล้ว ช่วงล่างสไตล์สปอร์ตคือโช้คหน้าเทเลสปิคที่เพิ่มระยะยุบมาอีก 10 มม. และโช้คหลังเดี่ยว สามารถรองรับการขับขี่ทุกย่านความเร็วได้แบบกระชับและหนืดกำลังเหมาะ อาจรู้สึกกระด้างบ้างเล็กน้อยเวลาเจอทางแย่ๆ แต่สำหรับการใช้งานในความเร็ว โดยเฉพาะจังหวะเอียงรถ Exciter เกาะโค้งได้ดีและไม่มีอาการโยนหรือกระพือให้เห็น
แวะหาที่เล่นเล็กน้อย รถเขากำลังดีนะครับ
ไฮไลท์สุดท้ายที่ช่วยให้การขับขี่ในความเร็วมีความลื่นไหลคงหนีไม่พ้น ระบบ Assist & Slipper clutch ซึ่งของ Exciter 155 VVA ใช้เป็นระบบที่อัดแผ่นคลัตช์ให้แน่นโดยไม่สูญเสียกำลังสู่ล้อหลัง เมื่อไหร่ที่เราวิ่งมาด้วยความเร็วสูงแล้วลดเกียร์ต่ำอย่างรวดเร็ว ชุดฝาครอบสปริงเสื้อคลัตช์จะกดไปที่แกนเอียง 45° ในตัวเสื้อและฝากดสปริงคลัตช์จะหมุนส่วนทางต้านกำลังจากการหมุนของข้อเหวี่ยงสู่เกียร์ด้วยการกดไปที่แกนเสื้อคลัตช์ต้านแรงไม่ให้แผ่นเหล็กและแผ่นคลัตช์แยกจากกัน (ในลักษณะเหมือนกับการบีบคลัตช์ไว้ประมาณ 15-20%) เมื่อลองซัดมาเต็มสปีดจากเกียร์ 6 รวบมาเป็นเกียร์ 2 ระบบหน่วงกำลังงานได้ค่อนข้างดี ล้อไม่ล็อค ไม่ต้องเบิ้ลเครื่องยนต์ไล่กำลังอัด แต่ถ้าเราวิ่งอยู่โดยใช้ความเร็วต่ำ เบรกแล้วลดเกียร์ทีละเกียร์ ระบบไม่ทำงานนะครับ โดยจะทำงานก็ต่อเมื่อเรารวบเกียร์จากความเร็วสูงหน่อย (ใหม่ ๆ อาจมีรู้สึกตึง ๆ บ้าง แต่ใช้ๆ ไประบบจะทำให้คลัตช์ slip ได้แม่นยำขึ้น ออกไปวิ่งตั้งแต่เช้าเย็นก็เข้าที่แล้ว)
สรุปแล้วสำหรับผม Exciter 155 VVA เป็นสปอร์ต New Segment ที่ถ่ายทอดฟิลลิ่งการขับขี่ได้สนุก ตื่นเต้น ตามชื่อ ‘Exciter’ ด้วยอัตราเร่งและกำลังที่มาทันท่วงทีตั้งแต่รอบต้น กลาง ไปจนถึงปลาย ระบบเบรก 1 พอต ที่ให้มาเป็นคาลิปเปอร์โฟลทติ้งเองก็หยุดความเร็วได้มั่นคง เทคโนโลยีภายในเครื่องยนต์ และระบบต่าง ๆ ที่ใส่เข้ามาคือสิ่งที่ทำให้รถรุ่นนี้มีสมรรถนะที่ดีแบบไม่มีกั๊ก อัตราประหยัดน้ำมันอยู่ในช่วง 30 กว่า กม./ลิตร ซึ่งถือว่าโอเค อาจจะไม่ได้ประหยัดมากมายอะไร แต่นั่นก็มาจากการขับขี่ที่เน้นแรงและใช้ความเร็วสูงยืนพื้นเป็นหลัก เอาเป็นว่าถ้าคุณกำลังมองหารถเล็กที่มีคลัตช์ ขี่สนุก และมีความเป็นสปอร์ตตี้แบบสั่งได้อยู่ในตัวสูง ไปลองจับลองสัมผัสด้วยตัวเองได้แล้วที่ตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าทุกสาขาครับ
World/Test: Sean Boonchoeisak
Pic: ไพโรจน์ จำนาญศิลป์